นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Stones) คือผลึกเกลือแร่ที่จับตัวกันเป็นก้อนอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายขับปัสสาวะออกได้ไม่หมด โดยนิ่วขนาดเล็กนั้นมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ และร่างกายสามารถขับออกทางปัสสาวะได้


นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Stones) คืออะไร?

คือผลึกเกลือแร่ที่จับตัวกันเป็นก้อนอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายขับปัสสาวะออกได้ไม่หมด โดยนิ่วขนาดเล็กนั้นมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ และร่างกายสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ แต่นิ่วขนาดใหญ่นั้นอาจทำให้รู้สึกปวดรุนแรง ปัสสาวะลำบาก และปัสสาวะเป็นเลือด

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะมีสาเหตุเกิดจากอะไร?

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะเกิดจากการที่มีปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน ทำให้แร่ธาตุต่าง ๆ เช่น เกลือ โพแทสเซียม และสารละลายในปัสสาวะตกผลึกกลายเป็นก้อนแข็ง โดยสาเหตุที่มักทำให้เกิดนิ่ว ได้แก่

  • ต่อมลูกหมากโต จะไปขัดขวางทางเดินปัสสาวะ ทำให้ร่างกายไม่สามารถขับปัสสาวะออกได้หมด
  • กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติจากระบบประสาท เนื่องจากการที่เส้นประสาทถูกทำลาย อันมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมอง การได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง หรือโรคอื่น ๆ ทำให้ร่างกายขับปัสสาวะออกได้ไม่หมด
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อหรือจากการได้รับรังสีรักษาที่อุ้งเชิงกราน
  • นิ่วในไต ซึ่งหลุดและเดินทางผ่านท่อไตไปยังกระเพาะปัสสาวะ จะกลายเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้หากไม่ถูกร่างกายขับออก
  • การขาดน้ำ ทำให้เกลือแร่เข้มข้นและตกผลึกกลายเป็นนิ่ว
  • อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น สายสวนปัสสาวะ สายระบายปัสสาวะในท่อไต มักจะมีผลึกเกลือแร่มาเกาะ ซึ่งผลึกเกลือแร่เหล่านี้จะกลายเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะมีอาการอย่างไร?

  • ปัสสาวะขุ่น สีเข้มดำ มีเลือดในปัสสาวะ
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ปวดแสบเวลาปัสสาวะ พร้อมกับปวดท้องน้อย อวัยวะเพศ หรือปวดอัณฑะที่อาจเกิดขึ้นซ้ำ ๆ 
  • ปัสสาวะออกช้า ปัสสาวะขาดหรือสะดุดเป็นช่วง ๆ
  • ติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คืออะไร?

  • ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะสูงขึ้น
  • โรคหลอดเหลือดสมอง อาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง โรคพาร์กินสัน โรคเบาหวาน หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หรืออาการอื่น ๆ ที่ทำลายเส้นประสาท
  • ต่อมลูกหมากโตขวางทางเดินปัสสาวะ

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะที่มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่อะไรบ้าง?

  • ปัญหากระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติเรื้อรัง
  • อาการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ
  • ปัสสาวะไม่ออก

การตรวจวินิจฉัยนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มีวิธีการอย่างไร?

  • การซักประวัติและตรวจร่างกาย
  • การตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพทางการแพทย์ เช่น เอกซ์เรย์ อัลตราซาวนด์ หรือการตรวจ CT สแกน
  • การส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

การรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มีวิธีการอย่างไร?

  • ร่างกายขับก้อนนิ่วออกเอง
    ร่างกายสามารถขับนิ่วก้อนเล็ก ๆ ออกได้หากดื่มน้ำมากขึ้น แต่ผู้ที่ไม่สามารถขับนิ่วออกได้เอง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาดังต่อไปนี้ 
  • การขบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Cystolitholapaxy)
    เป็นการรักษาแบบไม่มีแผล โดยแพทย์จะทำการสอดกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะ จากนั้นจึงใช้เลเซอร์หรือคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) กระแทกให้นิ่วแตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วจะทำการล้างกระเพาะปัสสาวะเพื่อกำจัดเศษนิ่วออกมา
  • การผ่าตัดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
    เหมาะสำหรับนิ่วที่มีขนาดใหญ่ โดยแพทย์จะกรีดหน้าท้องเพื่อนำก้อนนิ่วออกมา หากก้อนนิ่วที่พบเกิดจากภาวะต่อมลูกหมากโต แพทย์จะตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากที่อุดกั้นท่อปัสสาวะออกด้วย
    หลังการรักษา ผู้ป่วยมักดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะมีวิธีการป้องกันอย่างไร?

  • การดื่มน้ำมาก ๆ ช่วยให้แร่ธาตุสารละลายในปัสสาวะเจือจางมากขึ้น ลดโอกาสที่จะเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่โซเดียมสูงและน้ำตาลสูง เช่น อาหารแปรรูป อาหารจานด่วน อาหารกระป๋อง หรือน้ำอัดลม
  • ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปและมีภาวะต่อมลูกหมากโต ควรปรึกษาแพทย์เรื่องยาหรือเทคนิคการปัสสาวะที่จะช่วยให้ร่างกายขับปัสสาวะออกได้หมด

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์ เมื่อเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

  • บันทึกอาการที่มีและยาที่กำลังรับประทาน
  • พาคนในครอบครัวมาด้วยเพื่อช่วยจดจำข้อมูลที่สำคัญ
  • จดคำถามที่ต้องการถามแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น
    • ร่างกายสามารถขับก้อนนิ่วออกมาทางปัสสาวะได้หรือไม่
    • วิธีการรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะมีอะไรบ้าง มีความเสี่ยงอะไรบ้าง
    • ต้องรับประทานยาหรือไม่
    • ขณะที่เข้ารับการรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ควรจัดการกับโรคประจำตัวอย่างไร
    • หลังรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะแล้ว เกิดซ้ำได้อีกหรือไม่
  • เตรียมคำตอบสำหรับคำถามที่แพทย์อาจถาม ยกตัวอย่างเช่น
    • เริ่มมีอาการเมื่อไร
    • มีอาการตลอดเวลาหรือเป็น ๆ หาย ๆ 
    • อาการรุนแรงหรือไม่
    • มีไข้ หนาวสั่นหรือไม่
    • อะไรที่ทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง
    • มีภาวะปัสสาวะขัด ลำบาก หรือไม่พุ่งหรือไม่

คำถามที่ถามบ่อยเกี่ยวกับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

  • นิ่วในไตกับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะแตกต่างกันอย่างไร?
    นิ่วทั้ง 2 ชนิดคือผลึกเกลือแร่ เพียงแต่เกิดในอวัยวะที่ต่างกัน ทำให้เกิดพยาธิสภาพต่างกัน นิ่วในไตมักไม่มีอาการถ้าไม่หลุดลงไปในท่อไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะจะมีอาการปัสสาวะขัดได้

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ(Bladder Stones) ที่มีขนาดเล็กอาจไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อนิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจทำให้มีอาการมากขึ้น จึงควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสมเพื่อหาสาเหตุของการเกิดนิ่วได้ถูกต้อง การได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีสามารถป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะอีกได้